ผลงานการประกวดนาฏศิลป์พื้นเมืองสร้างสรรค์
นาฏศิลป์พื้นเมืองสร้างสรรค์
วิถีราชปุระ
วิ-ถี-รา-ชะ-ปุ-ระ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์
ช่วงชั้นที่ 1-2
โครงการมหกรรมศิลปหัตถกรรมนักเรียน ปี 2551
กลุ่มโรงเรียนเครือข่ายโพธารามที่ 3
โรงเรียนเจี้ยไช้ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
สังกัดสำนักคณะกรรมการบริหารงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 2
ระบำวิถีราชปุระ
การแสดงระบำ วิถีราชปุระ
นาฏศิลป์ คือ คือการร่ายรำที่มนุษย์ได้ปรุงแต่งจากลีลาตามธรรมชาติได้สวยสดงดงาม โดยมีดนตรีเป็นองค์ประกอบในการร่ายรำ นาฏศิลป์ของไทย แบ่งตามลักษณะของรูปแบบการแสดงเป็นประเภทใหญ่ 4 ประเภท คือ โขน ละคร รำ ระบำ และการแสดงพื้นเมือง การศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแสดงระบำ วิถีราชปุระ ได้แก่
รำ และ ระบำ เป็นศิลปะแห่งการร่ายรำประกอบเพลงดนตรีและบทขับร้อง โดยไม่เล่นเป็นเรื่องราว ในที่นี้หมายถึงรำและระบำที่มีลักษณะการแสดงและมาตรฐาน ซึ่งมีความหมายที่อธิบายได้พอสังเขปดังนี้
1. รำ หมายถึง ศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีผู้แสดง ตั้งแต่ 1 – 2 คน เช่น การรำเดียว การรำคู่ การรำอาวุธ เป็นต้น มีลักษณะการแต่งกายตามรูปแบบของการแสดง ไม่เล่นเป็นเรื่องราวอาจมีบทขับร้องประกอบการรำเข้ากับทำนองเพลงดนตรี มีกระบวนท่ารำ โดยเฉพาะการรำคู่จะต่างกับระบำ เนื่องจากท่ารำจะมีความเชื่อมโยงสอดคล้องต่อเนื่องกัน และเป็นบทเฉพาะสำหรับผู้แสดงนั้น เช่น รำเพลงช้าเพลงเร็ว รำแม่บท รำเมขลา – รามสูร เป็นต้น
2. ระบำ หมายถึง ศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีผู้เล่นตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป มีลักษณะการแต่งกายคล้ายคลึงกัน กระบวนท่าร่ายรำคล้ายคลึงกัน ไม่เล่นเป็นเรื่องราว อาจมมีบทขับร้องประกอบการรำเข้าทำนองเพลงดนตรี ซึ่งระบำแบบมาตรฐานมักบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ การแต่งกายนิยมการแต่งกายยืนเครื่องพระนาง หรือแต่งแบบนางในพระราชสำนัก เช่น ระบำสี่บท ระบำฉิ่ง เป็นต้น
การแสดงพื้นเมือง เป็นศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีทั้งรำ ระบำ หรือการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนตามวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค
การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง เป็นศิลปะการร่ายรำและการละเล่นของชนชาวพื้นบ้านภาคกลาง
ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม ศิลปะการแสดงจึงมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและเพื่อความบันเทิง สนุกสนาน เป็นการพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงาน หรือเมื่อเสร็จจากเทศกาลฤดูเก็บเกี่ยว เช่น การเล่นเพลงเกี่ยวข้าว เต้นกำรำเคียว รำโทนหรือรำวง รำกลองยาว เป็นต้น มีการแต่งกายตามวัฒนธรรมของท้องถิ่น และใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น กลองยาว กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง
ระบำวิถีราชปุระ
ที่มาของระบำวิถีราชปุระ
จังหวัดราชบุรี
ราชปุระ หรือ ราชบุรี ซึ่งมีความหมายว่าเมืองแห่งพระราชานี้ใช้รูปเครื่องราชกกุธภัณฑ์ 2 สิ่ง คือพระแสงขรรค์ชัยศรีประดิษฐานอยู่บนบันไดแก้ว และฉลองพระบาทคู่ประดิษฐานอยู่บนพานทอง เป็นตราประจำจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของชื่อจังหวัดยิ่งนัก
สิ่งแรกในความคิดของคนทั่วไป เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดราชบุรี ก็คือ “โอ่งมังกร ” ซึ่งแข็งแรงทนทานและประณีตสวยงาม เป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงและทำรายได้ให้แก่จังหวัดอย่างมาก ชาวเมืองราชบุรีนั้น มีอัธยาศัยดี มีน้ำใจงาม โดยเฉพาะกิริยามารยาทอันนุ่มนวลอ่อนหวานของชาวบ้านโป่งและใบหน้าสวยคมคายตามแบบชาวรามัญของชาวสาวโพธาราม นับเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเมืองราชบุรี ที่จูงใจให้คนบ้านอื่นเมืองอื่นใคร่จะมาเยือนเมืองราชบุรีให้ได้สักครั้ง อีกทั้งวิถีชีวิตของผู้คนสองฝั่งแม่กลองยังคงเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และผูกพันอยู่กับสายน้ำ ภาพชีวิตในยามเช้าของตลาดน้ำดำเนินสะดวกจึงเป็นภาพวิถีชีวิตไทยที่ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก
จากลักษณะทางกายภาพของจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มน้ำแม่กลองอันอุดมสมบูรณ์ จนขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลายี่สกพันธุ์ดีแล้วนั้น ยังมีภูเขาหินปูนน้อยใหญ่มากมายกระจายอยู่ทั่วไป ทำให้ราชบุรีมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามตามธรรมชาติมากมาย โดยเฉพาะถ้ำต่างๆ เช่น ถ้ำค้างคาวจำนวนนับล้านๆตัวจะทยอยบินออกมาหากิน มองเห็นเป็นสายดำยาวพาดผ่านท้องฟ้า สร้างความตื่นตาให้แก่นักท่องเที่ยวที่มารอชม
นอกจากนี้ จังหวัดราชบุรียังเป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมที่น่าศึกษาอีกหลายแขนง อาทิ การสืบสานศิลปะการเชิดหนังใหญ่ที่วัดขนอน มหรสพชั้นสูงของไทยที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาหรือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวไทยเชื้อสายมอญที่ชุมชนวัดบ้านม่วง
วิถีราชปุระ
วิถีราชปุระ
( วิ - ถี – รา – ชะ – ปุ – ระ )
การแสดงระบำ “วิถีราชปุระ” เป็นระบำที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ โดยศึกษาข้อมูลวิถีชีวิตของจังหวัดราชบุรี เป็นฐานความคิดและจินตนาการ ระบำชุดนี้มีรูปแบบเป็นการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมือง เพื่อเสนอวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวราชบุรี 4 อาชีพ ได้แก่ การทอผ้าซิ่นตีนจกบ้านคูบัว การทำสวนองุ่นดำเนินสะดวก การรีดนมโคนมหนองโพ และเครื่องปั้นดินเผาโอ่งมังกร คณะครูผู้สอนจึงนำสิ่งที่มีชื่อเสียงดังกล่าวมาประดิษฐ์เป็นระบำที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ตั้งแต่ดั้งเดิมของจังหวัดราชบุรี
วัตถุประสงค์ของการประดิษฐ์ระบำ
1. เพื่อเสนองานศิลปะรูปแบบนาฏศิลป์ไทยที่แสดงวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี
2. เพื่อให้ผู้ชมการแสดงเกิดความภาคภูมิใจ เกิดความรักและเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดราชบุรี
3. เพื่อให้เป็นการแสดงระบำประจำโรงเรียนเจี้ยไช้ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
4. เพื่อใช้แสดงเผยแพร่ในโอกาสต่างๆของโรงเรียน และจังหวัดราชบุรี
การออกแบบท่ารำ
ลีลาท่ารำและการแต่งกายของการแสดงระบำชุดนี้ อาศัยความคิดและจินตนาการจากการศึกษาภาพถ่ายในการเก็บข้อมูลสถานที่จริง การศึกษาค้นคว้าในหนังสือ รวมทั้งข้อมูลทางอินเตอร์เนตเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี 4 อาชีพ ได้แก่ การทอผ้าซิ่นตีนจกบ้านคูบัว การทำสวนองุ่นดำเนินสะดวก การรีดนมโคนมหนองโพ และเครื่องปั้นดินเผาโอ่งมังกร